การดูแลคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว และผู้ป่วยเรื้อรัง โดยใช้แนวคิดการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

Archive for กันยายน, 2012

การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ

นางสาวนลินี เรืองฤทธิศักดิ์ นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ได้เขียนบทความถึง IL (Independent Living) หรือการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ

IL (Independent Living) หรือการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ

คือ การที่คนที่การสามารถกำหนดแนวทางการดำรงชีวิตของตนเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยไม่ขึ้นอยู่กับความพิการว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงไร ทั้งนี้อาศัยบริการและความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น

คนพิการที่ดำรงชีวิตอิสระได้คืออะไร

คือ ผู้ที่มีอิสระทางความคิด มีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเลือกตัดสินใจในการดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพของตนเอง ประวัติความเป็นมาและปรัชญาของ Independent Living Movement
ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิ ของชาวแอฟริกันอเมริกัน (นิโกร) ในฐานะที่เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้ คนพิการเกิดการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิของตนเอง
ปี 1972 เอ็ด โรเบิร์ต เป็นผู้พิการโปลิโอที่ใช้รถวีลแชร์และเครื่องช่วยหายใจ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในขณะที่เขาเป็นนักศึกษา เขาได้ใช้การบริการ ในมหาวิทยาลัย เช่น การช่วยเหลือ ที่พัก บริการซ่อมรถวีลแชร์ และการให้คำปรึกษาฉันท์เพื่อน อย่างไรก็ตามบริการเหล่านี้ก็หมดไปเมื่อเขาสำเร็จการศึกษา ดังนั้น เขาจึงได้จัดตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระขึ้น (ILC) ในชุมชนให้ความช่วยเหลือครอบครัวและเพื่อนๆของเขา ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวด้านการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ในประเทศต่างๆ ในยุโรปได้มีนโยบายเพื่อคนพิการอย่างชัดเจนสวนทางกับแนวคิดอุดมคติของการดำรงชีวิตอิสระโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลประเทศเนเธอร์แลนด์ได้พัฒนานโยบายเกี่ยวกับคนพิการมามากมาย และสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ให้กับคนพิการชื่อว่า Head Dorf ในขณะที่ประเทศอังกฤษ รัฐบาลได้ทำการสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับการรวมกลุ่มของคนพิการ รวมถึงการสร้างเขตที่อยู่อาศัยของคนพิการด้วย เป็นต้น นโยบายส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนพิการเกิดขึ้นในหลายประเทศและเน้นการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนพิการอยู่รวมกันและแยกออกจากสังคมซึ่งเป็นความคิดที่ตรงข้ามกับแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการที่ได้รับการส่งเสริมสหรัฐอเมริกา

การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(3)

ประวัติความเป็นมาของ Independent Living ในประเทศไทย

คนพิการไทยเริ่มเรียนรู้แนวคิด Independent living มานาน ผู้นำคนพิการมีโอกาสไปดูงานด้านนี้ในญี่ปุ่น อเมริกา สวีเดน และนิวซีแลนด์ ในช่วงปี พ.ศ. 2531-2535 ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน คนพิการร่างกาย ตาบอด หูหนวก ได้รบทุนไปศึกษาดูงานตามโครงการ Independent Living Study Program ที่ประเทศญี่ปุ่นปีละ 2 ทุน

แนวคิด Independent living และการดำเนินงานของ Independent living center ได้รับการยอมรับจากประเทศที่ผ่านระยะความก้าวหน้าด้านสวัสดิการสงเคราะห์และการฟื้นฟูสมรรถภาพ คนพิการมาแล้วว่าสอดคล้องกับแนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน แต่มีจุดดีกว่าในการให้ความสำคัญด้านจิตใจและสังคมของคนพิการ และสามารถพัฒนาชีวิตคนพิการไปสู่เป้าหมายสูงสุดของแต่ละคนได้ แบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการดูแลคนพิการด้วยรูปแบบดั้งเดิมได้ ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนงบประมาณการก่อตั้งและการดำเนินงานของ Independent living center โดยมีกฏหมายรองรับอย่างชัดเจน ในขณะที่ได้มีความพยายามเผยแพร่แนวคิดนี้ออกไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกและมีการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ เพื่อหาวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละภูมิภาคและแต่ละประเทศ มีการจัดประชุมสุดยอดระดับโลก(World Summit on Independent Living) ขึ้น 2 ครั้ง เมื่อปี 1999 และ 2000 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และ โฮโนลูลู รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ซึ่งผู้นำ คนพิการไทยได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดทั้ง 2 ครั้งนี้ด้วย
เมื่อวันที่ 21 – 25 กันยายน ปี 1999 ได้มีการประชุม independent living ระดับโลกเป็นครั้งแรกขึ้นที่ Washington, DC ในการประชุมนี้มีคนพิการมากกว่า 100 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก

แนวคิดหลัก 4 ข้อของศูนย์ ILC เมือง Berkeley

  1. คนพิการควรที่จะอยู่ในชุมชนมากกว่าแยกออกไปอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูหรือองค์กรอื่น
  2. คนพิการไม่ได้เป็นคนไข้ที่ต้องดูแล ไม่ใช่เด็กที่ต้องการการปกป้อง หรือพระเจ้าที่ต้องเคารพสักการะ
  3. คนพิการสามารถดูแลจัดการเรื่องความช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง
  4. คนพิการเป็นเหยื่อของสังคมที่มีอคติมากกว่าเหยื่อของความพิการของตนเอง

ขณะนี้คนพิการได้กำหนดเป้าหมายของตนเองได้เหมือนกับคนปกติทั่วไปจากการได้รับการบำบัดฟื้นฟู เช่น จากการบำบัดพวกเขาสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ด้วยตนเองถึงแม้ว่าจะใช้เวลา ถึง 2 ชั่วโมงก็ตาม ปรัชญาของ IL การได้รับความช่วยเหลือไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าอาย แต่มันเป็นการประกาศถึงการที่คนพิการสามารถตัดสินได้ด้วยตนเอง การฟื้นฟูเป็นเพียงแค่การรักษาทางการแพทย์ที่มีช่วงเวลาที่กำหนดแต่ไม่ควรให้การฟื้นฟูนั้นมาควบคุมชีวิตของคนพิการ
ทำอย่างไรจึงจะดำรงชีวิตอิสระได้

  1. รู้จักความพิการของตนเอง รู้จักดูแลไม่ให้ความพิการมีสภาพรุนแรงขึ้นหรือส่งผลให้เกิดเป็นความเจ็บป่วยได้
  2. สามารถยอมรับกับสภาพความพิการที่เป็นอยู่ ไม่มัวเอาแต่เสียอกเสียใจ และคิดว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ชีวิตตามสภาพร่างกายที่เป็นอยู่มีคุณค่าได้
  3. สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ หรือการที่จะเดินทางเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมสำหรับเรื่องที่ทำเองไม่ได้ ก็มีวิธีที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก  http://www.opp.go.th/km/fund/apcd1_7_12_49.pdf

การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(2)

หลังจากการก่อตั้งศูนย์ ILC ที่ Berkeley การเคลื่อนไหวด้าน IL ก็แพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว ในปีเดียวกันกับที่มีการก่อตั้งศูนย์ ILC ที่ Berkeley คนพิการที่ Huston ได้ก่อตั้งศูนย์ ILC เช่นเดียวกันกับที่ Boston ซึ่งก่อตั้งในในปี 1974 และ ปี 1978 ตามลำดับ การรวมตัวกันของคนพิการได้ก่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการของสหรัฐอเมริกาและจากการแก้ไขกฎหมาย คนพิการได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากรัฐ ในปี 1979 Gerben DeJong นักสังคมวิทยาได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Movement for Independent Living ซึ่งกล่าวถึงทฤษฎีและผลกระทบของแนวคิด IL เปรียบเทียบกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ หนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือที่เผยแพร่แนวคิด IL ไปทั่วสหรัฐอเมริกา
30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ ILC แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่ไม่ธรรมดา ในสหรัฐอเมริกา การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพมากเพราะทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายด้านการฟื้นฟูของรัฐถึง 504 ข้อ และ ILC ได้เสนอกฎหมายที่ชื่อ Americans with Disabilities Act (ADA) เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมของคนพิการ ซึ่งประสบความสำเร็จในปี 1990 ในขณะนี้หัวหน้ากลุ่มคนพิการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริการจัดการของรัฐ รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่รัฐอีกทางหนึ่งด้วย
ที่ประเทศแคนาดา Henry Enns มีเป้าหมายที่จะขจัดข้อจำกัดของระบบการฟื้นฟูให้หมดไปและจัดตั้งองค์กรคนพิการขึ้นในระดับรากหญ้าในปี 1980 โดยเริ่มที่ Kitchener, Ontario รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เป็นการบังคับและการควบคุมคนพิการ ซึ่งทำให้คนพิการเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาผู้อื่นเป็นการพึ่งตนเองและเป็นอิสระ ศูนย์ ILC แห่งแรกของแคนาดาได้ก่อตั้งขึ้นหลังจากการจัดตั้งของ Disabled People’s International (DPI) ในปี 1981 และในปี 1989 ศูนย์ ILC ประสบความสำเร็จในการตั้งศูนย์บริการและระบบบริการโดยตรงในทุกๆรัฐในแคนาดา
ที่ประเทศอังกฤษ รัฐสภาได้ออก พรบ. การออกใบเสร็จรับเงิน ซึ่งส่วนกลางได้สนับสนุนให้ศูนย์ ILC รับผิดชอบด้านนี้ในทุกๆเทศบาล  ที่ประเทศสวีเดน โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานประสานงานด้านความร่วมมือด้าน PA ศูนย์ ILC ได้รับผิดชอบหน้าที่ในการจัดหาบริการ PA เป็นระยะเวลา 14 ปี ซึ่งคนพิการเองก็สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้อย่างเต็มที่

แนวคิด Independent living concept เริ่มแพร่เข้าในประเทศญี่ปุ่นราวปี 1984 คนพิการญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้ไปใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนรู้แนวคิดและการปฏิบัติเรื่องนี้ Independent living center แห่งแรกของญี่ปุ่นตั้งขึ้นในปี 1984 คือ Human Care Association ในโตเกียว ปัจจุบันกระจายไปทั่วประเทศมากกว่า 200 แห่ง

การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน ( CBR )

          ได้เจอบทความของ นายวิสัน สุคะมะโน ผู้อำนวยการ  ศูนย์การศึกษาพิเศษ  ประจำจังหวัดสตูล ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน ( CBR ) ไว้อย่างน่าสนใจ จึงได้แชร์มาให้ได้อ่านกันค่ะ ซึ่งผู้อำนวยการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ  ประจำจังหวัดสตูลได้เขียนเรื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน ( CBR )ไว้ว่า
ในอดีตคนพิการส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตในครอบครัวโดยถูกเก็บซ่อนไว้ในบ้าน เนื่องจากสังคมไทยยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนพิการ ไม่ค่อยยอมรับคนพิการ และมีความอับอายหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นคนพิการ ส่วนการช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมักจะเป็นการสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว จนกระทั่งใน พ.ศ.2524 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นปีคนพิการสากล และสร้างแนวคิดว่าคนพิการสามารถรักษาและฟื้นฟูได้ คนในสังคมจึงเริ่มมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อคนพิการ จนมาถึงปัจจุบันสังคมไทยได้มีการยอมรับและเชื่อว่าการเสริมสร้างพลังให้กระบวนการรักษาและฟื้นฟูคนพิการมีความเข้มแข็งและยั่งยืนจะต้องเริ่มจากคนพิการเอง ครอบครัวของคนพิการ และชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่ แนวคิดเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน หรือ Community-based rehabilitation ซึ่งนิยมเรียกกันย่อๆ ว่า “CBR” จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันการดำเนินงาน CBR จะเกิดขึ้นและกระจายอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ก็มีเพียงในบางตำบลหรืออำเภอของบางจังหวัดในแต่ละภาคเท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ในปัจจุบัน CBR จะเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากกว่าในอดีต แต่การกระจายงาน CBR นี้ก็ยังไม่ทั่วถึงทุกส่วนของประเทศ อีกทั้งนักกายภาพบำบัดซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับคนพิการเป็นอย่างมาก ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน CBR ไม่มากนัก บทความนี้จึงถูกเรียบเรียงขึ้นเพื่อให้นักกายภาพบำบัดได้มีความรู้ ความเข้าใจ และคำนึงถึงความสำคัญของ CBR มากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาช่วงแรกของบทความจะกล่าวถึงเรื่องความพิการและประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ CBR ส่วนในช่วงท้ายจะเป็นตัวอย่างการดำเนินโครงการ CBR ของภาควิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างหรือแนวทางให้แก่นักกายภาพบำบัดที่สนใจจะพัฒนางาน CBR นำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้
ความหมายของความพิการ
          ความพิการ หมายถึง ความบกพร่องหรือการสูญเสียสมรรถภาพของร่างกายและ(หรือ)จิตใจ จะทำให้มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ การสื่อความหมาย (การพูด ฟัง อ่าน เขียน) การทำกิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพ และการสร้างสัมพันธภาพกับคนในสังคม ซึ่งคนหนึ่งอาจจะมีความบกพร่องและมีขีดจำกัดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ (1) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งความพิการออกเป็น 5 ประเภท คือ ความพิการทางการมองเห็น ความพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย ความพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว ความพิการทางจิตหรือพฤติกรรม และความพิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ (1)

สถิติคนพิการในประเทศไทย
          ใน พ.ศ.2529 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการในประเทศไทยโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าประเทศไทยมีจำนวนคนพิการประมาณ 385,560 คน หรือ ร้อยละ 0.74 ของประชากรทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีอัตราคนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวมากที่สุด คือ อัตรา 1.94 ต่อประชากรพันคน รองลงมาคือพิการทางจิตใจและสติปัญญา อัตรา 1.60 ต่อประชากรพันคน คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายมีอัตรา 1.45 ต่อ   ประชากรพันคน และคนพิการทางการมองเห็นมีอัตรา 0.58 ต่อประชากรพันคน (2)

          ต่อมาใน พ.ศ.2534 ได้มีการสำรวจเช่นเดิมอีกครั้ง พบว่ามีจำนวนคนพิการประมาณ 1,057,000 คน หรือ ร้อยละ 1.85 ของประชากรทั่วประเทศ โดยมีอัตราคนพิการทางกายมากที่สุดคือ อัตรา 7.9 ต่อประชากรพันคน รองลงมาคือคนพิการทางการได้ยินคิดเป็นอัตรา 3.65 ต่อประชากรพันคน (3) สถิติความชุกของคนพิการนี้มีค่าคงที่จนถึง พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจ     ข้อมูลเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (4) แต่จากการสำรวจโดยการตรวจร่างกายร่วมด้วยของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติใน พ.ศ.2534-2535 พบว่าประเทศไทยน่าจะมีจำนวนคนพิการประมาณร้อยละ 8.1 (5) การสำรวจข้อมูลครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2544 พบว่าประเทศไทยมีคนพิการประมาณร้อยละ 8.9 ของประชากรทั่วประเทศ (6)
ความหมายของการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน
          การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ หมายถึง การเสริมสร้างสมรรถภาพหรือการเสริมสร้างความสามารถของคนพิการให้มีสมรรถภาพดีขึ้น โดยอาศัยวิธีการทางการแพทย์ การศึกษา สังคม และการฝึกอาชีพ เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมทัดเทียมคนทั่วไป (7)
          สำหรับ CBR หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน มีความหมายดังที่บัญญัติขึ้นจากที่ประชุมระหว่างองค์กรต่างประเทศ 3 องค์กร ได้แก่ ILO, UNESCO และ WHO ใน ค.ศ.1994 ดังนี้ (8)
“Community-based rehabilitation is a strategy within community development for the rehabilitation, equalization of opportunities and social integration of all people with disabilities. CBR is implemented through the combined efforts of disabled persons themselves, their families and communities, networking with the appropriate health, education, vocational and social services.” 
          จากความหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า CBR เป็นหลักยุทธศาสตร์ที่รวมอยู่ในการพัฒนาชุมชนโดยมีเป้าหมายเพื่อ 1) การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 2) ความเท่าเทียมกันของโอกาส และ 3) ให้คนพิการมีส่วนร่วมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทั้งสามนี้จะต้องอาศัยการประสานกันระหว่างตัวของคนพิการเอง ครอบครัวของคนพิการ และชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่ โดยเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสมในด้านต่างๆ ได้แก่ การแพทย์ การศึกษา การอาชีพ และการบริการทางสังคม
สำหรับคำว่า “ชุมชน” ไม่มีความหมายที่กำหนดตายตัว การให้ความหมายของชุมชนจะขึ้นอยู่กับการนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเป็นหลักสำคัญ เช่น ชุมชนอาจหมายถึงชุมชนในชนบท ชุมชนในเขตเมือง เป็นต้น นอกจากนั้น แนวคิดและแนวทาง CBR นี้ ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการพัฒนาชุมชน การพัฒนาสังคม รวมถึงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้านอื่นๆ อีกด้วย

ลักษณะของ CBR

จากที่กล่าวข้างต้นว่า CBR เป็นการดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนต้องเป็นฐานของการฟื้นฟูนั้นและริเริ่มโดยความต้องการของชุมชนเอง ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า CBR เป็นแนวคิดที่มีลักษณะสำคัญดังนี้ (8)

  1. เป็นยุทธศาสตร์ “เชิงรุก” เข้าถึงคนพิการในชุมชน โดยคนพิการและครอบครัว ตลอดจน  ชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งแตกต่างจากการบำบัดฟื้นฟูคนพิการโดยระบบการรักษาพยาบาลในปัจจุบันที่อยู่ในลักษณะ “เชิงรับ”
  2. การดำเนินงานต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชน เน้นการค้นหาและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ ครอบครัวและชุมชน โดยสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูทั้งในระดับการวางแผนและการดำเนินงาน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และมีการประสานงานกัน
  3. แสวงหาและใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ความรู้เดิมของชุมชน เทคโนโลยีพื้นบ้าน และทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว หรืออาจกล่าวว่าจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพให้มากที่สุด ไม่พึ่งพิงทรัพยากรภายนอกมากนัก
  4. ใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง เหมาะสมและประหยัด

เงื่อนไขของ CBR

กิจกรรมหรือโครงการที่จัดว่าเป็น CBR จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้ (7)

  1. คนพิการจะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรม/โครงการนั้นทุกขั้นตอนของโครงการนับตั้งแต่เริ่มการออกแบบโครงการ
  2. วัตถุประสงค์หลักของโครงการจะต้องเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต (Quality of Life, QOL) ของคนพิการ ให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ (Independent Living) ไม่ใช่มุ่งหวังเพียงให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในการทำกิจวัตรประจำวัน (Activity of Daily Living, ADL) อย่างที่ผ่านมาเท่านั้น
  3. มุ่งเน้นในการทำงานกับชุมชนเพื่อส่งเสริมให้คนพิการเกิดทัศนคติทางบวกและให้สมาชิกในชุมชนมีแรงจูงใจที่จะให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมกับโครงการ CBR
  4. ต้องเป็นโครงการที่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของชุมชนแต่ละแห่ง

ปัจจัยหลักของ CBR
          โครงการ CBR จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลัก 4 ประการ ดังนี้ (8)

  1. การสร้างความตระหนักในปัญหาความพิการและตระหนักในการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
  2. การประสานทรัพยากรเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูคนพิการ
  3. การพัฒนาทักษะและความรู้เฉพาะด้านให้แก่สมาชิกในชุมชน
  4. การให้คนพิการและครอบครัวมีส่วนร่วมในกระบวนการทำโครงการ CBR ตั้งแต่การวางแผน การอำนวยการ การประเมินผล การปฏิบัติการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา ตามแนวคิดที่เป็นหลักการบริหารการพัฒนาที่ยั่งยืน

บุคคลที่เกี่ยวข้องใน CBR

การที่งาน CBR จะเริ่มต้น ดำเนินไป และคงอยู่ได้ในชุมชนนั้นๆ จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ การประสานสัมพันธ์กันของกลุ่มบุคคล 7 กลุ่ม ได้แก่ (8)

  1. คนพิการในชุมชนนั้น
  2. ครอบครัวของคนพิการ
  3. ชุมชนของคนพิการ
  4. หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ
  5. องค์กรเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และต่างประเทศ
  6. บุคลากรทางการแพทย์ นักการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ และวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  7. นักธุรกิจ

บทบาทหน้าที่ของผู้ทำงานในชุมชนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ CBR
          ดังที่ทราบว่า CBR เป็นการดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยคนในชุมชนเองและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนนั้นให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน จึงถือเป็นเพียงผู้ทำงานในชุมชนในการดำเนินโครงการ CBR เท่านั้น ซึ่งจะต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนในขอบเขตดังนี้ (9)

  1. เป็นผู้แนะนำ สาธิต ให้ความรู้แก่คนพิการ ญาติ ครอบครัวคนพิการ และชุมชน
  2. เป็นผู้กระตุ้นให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
  3. เป็นผู้ประสานงาน
  4. เป็นผู้ส่งต่อในกรณีที่คนพิการต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านต่างๆ
  5. เป็นผู้สนับสนุนทางด้านเทคนิคและให้กำลังใจ เพื่อพัฒนางานให้มีในชุมชนต่อไป
  6. เป็นแหล่งข้อมูลต่างๆ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ทำงานในชุมชนในการดำเนินโครงการ CBR จะเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือผู้คอยกระตุ้น (facilitator) ชุมชนในระยะแรกให้สามารถดำเนินโครงการไปได้เท่านั้น มิใช่เป็นผู้ลงมือกระทำโครงการเอง และเมื่อเห็นว่าชุมชนมีความเข้มแข็งพอที่จะดำเนินโครงการได้เองแล้ว ผู้ทำงานในชุมชนฯ จะต้องลดบทบาทของตนลงและถอนตัวออกมาจากโครงการในที่สุด เพื่อให้โครงการ CBR มีความยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบของชุมชนนั้นเอง แต่หากพบว่าเมื่อลดบทบาทลงแล้ว การดำเนินโครงการ CBR ของชุมชนเกิดความไม่ราบรื่น ผู้ทำงานในชุมชนฯ ก็อาจจำเป็นต้องกลับไปมีบทบาทในโครงการนั้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งความยั่งยืนของโครงการ CBR แต่ละโครงการ อาจใช้เวลามากน้อยต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านความเข้มแข็งของชุมชนนั้นๆ

คุณค่าของงาน CBR
          ผู้เขียนมีความเห็นว่างาน CBR มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมไทย โดยนำไปสู่สิ่งต่างๆ ดังนี้

  1. การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
  2. การจัดการทรัพยากรที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
  3. การสนับสนุนการปรับทัศนคติในทางบวกแก่คนในชุมชนและตัวคนพิการเอง
  4. การสนับสนุนโอกาสและสิทธิของคนพิการ
  5. การสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพทุกส่วนตามศักยภาพที่มีอยู่ของคนพิการ
  6. การสนับสนุนให้คนพิการอยู่ร่วมกับชุมชนในฐานะสมาชิกที่เสมอภาคในชุมชน มีความสุขและความอบอุ่น

CBR กับประเทศไทย

CBR ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว เช่น ประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มนำ CBR ไปใช้ในการจัดการปัญหาคนพิการของประเทศตั้งแต่ ค.ศ.1978 ประเทศมาเลเซียได้เริ่มใช้ใน ค.ศ.1983 เป็นต้น (10) สำหรับประเทศไทยการดำเนินงาน CBR เริ่มจากความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับกระทรวงสาธารณสุขใน พ.ศ.2526 โดยมีการแปลคู่มือการฝึกคนพิการโดยชุมชนขององค์การอนามัยโลกและฝึกอบรมอาสาสมัครให้ใช้คู่มือดังกล่าว ซึ่งพบว่าผลการดำเนินงานสามารถทำให้คนพิการในชุมชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือตนเองขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขโดยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติได้ดำเนินงาน CBR อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยพยายามให้มีการขยายงาน CBR ไปทั่วประเทศ (11) นอกจากนั้น ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานอื่นที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการหรือมีความสนใจในงานคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิศรีบุญเรืองเพื่อคนพิการ มูลนิธิช่วยเหลือเด็กพิการ อุบลราชธานี เป็นต้น ได้นำ CBR มาใช้ในการดูแลคนพิการบางส่วนของประเทศเช่นกัน โดยมีมูลเหตุจูงใจจากสิ่งต่อไปนี้

  1. จำนวนคนพิการในชนบทมีจำนวนมาก
  2. บริการที่รัฐให้แก่คนพิการที่มีอยู่เดิมนั้นไม่ทั่วถึงและคนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้
  3. การดูแลฟื้นฟูในศูนย์หรือโรงพยาบาลต้องใช้งบประมาณและบุคลากรมาก
  4. คนพิการ ครอบครัว และชุมชนของคนพิการ ขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
  5. ความยากลำบากในการกลับสู่สังคมเดิมของคนพิการหลังจากได้รับบริการ
  6. ชุมชนของคนพิการมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลสมาชิกของตนเอง แต่ไม่ได้มีการนำ    ศักยภาพเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ขอขอบคุณความรู้ดี ๆ จาก http://school.obec.go.th/specialsatun  /modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=13

การพัฒนาศักยภาพคนพิการโดยชุมชน CBR

การพัฒนาศักยภาพคนพิการโดยชุมชน
     (Community  Based  Rehabilitation  – CBR)
   “ชุมชน ดูแล คนพิการ
แนวคิคของโครงการ CBR


          แนวคิดของ CBR เป็นแนวคิดที่มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
          1. เป็นยุทธศาสตร์ “เชิงรุก” เข้าถึงคนพิการในชุมชน ในขณะที่การบำบัดฟื้นฟูคนพิการโดยระบบการรักษาพยาบาลในปัจจุบันอยู่ในลักษณะ “เชิงรับ”
          2. เน้นการค้นหาและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ ครอบครัวและชุมชน โดยสนับสนุนให้มี ส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูทั้งในระดับการวางแผนและการดำเนินงาน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และมีการประสานงานกัน
          3. แสวงหาและใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาชาวบ้านความรู้เดิมของชุมชนเทคโนโลยีพื้นบ้านและ ทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว
เงื่อนไขของ CBR
          กิจกรรมหรือโครงการที่เป็น CBR จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ต่อไปนี้
          1. คนพิการจะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรม/โครงการนั้นทุกขั้นตอนของโครงการนับตั้งแต่เริ่มการออกแบบโครงการ
          2. วัตถุประสงค์หลักของโครงการจะต้องเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต (Quality of Life, QOL) ของ    คนพิการไม่ใช่มุ่งหวังเพียงให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในการทำกิจวัตรประจำวัน (Activity of Daily Living, ADL) อย่างที่ผ่านมาเท่านั้น
          3. มุ่งเน้นในการทำงานกับชุมชนเพื่อส่งเสริมให้คนพิการเกิดทัศนคติทางบวกและให้สมาชิกในชุมชนมีแรงจูงใจที่ จะให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมกับโครงการ CBR
          4. ต้องเป็นโครงการที่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของชุมชนแต่ละแห่ง
ปัจจัยหลักของ CBR
ปัจจัยหลักที่ทำให้งาน CBR ประสบความสำเร็จ มี 4 ประการ ได้แก่
          1. การสร้างความตระหนักในปัญหาความพิการและตระหนักในการมีส่วนร่วมของครอบครัว      และชุมชน
          2. การประสานทรัพยากรเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูคนพิการ
          3. การพัฒนาทักษะและความรู้เฉพาะด้านให้แก่สมาชิกในชุมชน
          4. การให้คนพิการและครอบครัวมีส่วนร่วมในกระบวนการทำโครงการ CBR ตั้งแต่การวางแผน การอำนวยการ
              การประเมินผล  การปฏิบัติการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาตามแนวคิดที่เป็นหลักการบริหาร การพัฒนาที่ยั่งยืน
บุคคลที่เกี่ยวข้องใน CBR
          การที่งาน CBR จะเริ่มต้น ดำเนินไป และคงอยู่ได้ในชุมชนนั้นๆ จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ     การประสานสัมพันธ์กันของกลุ่มบุคคล 7 กลุ่ม ได้แก่
          1. คนพิการในชุมชนนั้น
          2. ครอบครัวของคนพิการ
          3. ชุมชนของคนพิการ
          4. หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ
          5. องค์กรเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และต่างประเทศ
          6. บุคลากรทางการแพทย์ นักการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ และวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
          7. นักธุรกิจ
คุณค่าของงาน CBR
          งาน CBR มีคุณค่าและความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมไทย โดยนำไปสู่สิ่งต่างๆ ดังนี้
          1. การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
          2. การจัดการทรัพยากรที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ
          3. การสนับสนุนการปรับทัศนคติในทางบวกแก่คนในชุมชนและตัวคนพิการเอง
          4. การสนับสนุนโอกาสและสิทธิของคนพิการ
          5. การสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพทุกส่วนตามศักยภาพที่มีอยู่ของคนพิการ
          6. การสนับสนุนให้คนพิการอยู่ร่วมกับชุมชนในฐานะสมาชิกที่เสมอภาคในชุมชน มีความสุขและความอบอุ่น
กระบวนการ
วิธีดำเนินการ
          การดำเนินงานพัฒนาศักยภาพคนพิการโดยชุมชนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานภายใต้โครงการการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนเพื่อให้บริการคนพิการแบบครบวงจรในระดับชุมชน โดยใช้รูปแบบของ “อาสาสมัครพัฒนาสังคมฯช่วยเหลือคนพิการ” (อพมก.)  ซึ่งภารกิจหลักของ อพมก. ในการให้ความช่วยเหลือดูแล ฟื้นฟู และพัฒนาคนพิการ มี 11 ภารกิจหลักได้แก่ การค้นหาคนพิการโดยชุมชน  การจดทะเบียนคนพิการ  ประสานงานกับคนพิการ/ครอบครัว/อบต.  และผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการ  การจัดทำแผนบุคคล  การฝึกทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการแต่ละประเภท  การส่งเสริมเข้าถึงระบบสุขภาพหลักประกัน 30 บาท  การได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ การเตรียมความพร้อมเข้าระบบโรงเรียน การฝึกทักษะอาชีพสำหรับคนพิการ  และการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มในชุมชน เป็นต้น
กระบวนการดำเนินงาน
          กระบวนการการดำเนินงานเพื่อให้การพัฒนาศักยภาพคนพิการโดยชุมชนมีความยั่งยืนมีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 กิจกรรม (3 ปี)  คือ.
กิจกรรมปีที่ 1 การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน  เพื่อให้บริการคนพิการแบบครบวงจรในชุมชน ของ พม.  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครพัฒนาสังคมฯช่วยเหลือคนพิการ โดยการอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมฯช่วยเหลือคนพิการ เพื่อให้ความรู้และเพิ่มพูนทักษะในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครฯ โดยแบ่งการอบรมเป็น 2 ระยะ  คือ  ระยะที่ 1 เป็นการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับคนพิการและสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการ หน่วยงานที่ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านการแพทย์  การศึกษาการอาชีพและสังคม  รวมทั้งการปฏิบัติงานกับครอบครัวและชุมชน  และระยะที่ 2 เน้นการฝึกทักษะเพื่อให้สามารถช่วยเหลือคนพิการและแนะนำครอบครัวคนพิการในการฟื้นฟูสมรรถภาพ  และการประกอบกิจวัตรประจำวัน  รวมทั้งการกระตุ้นการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชน
กิจกรรมปีที่ 2 การส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน  เพื่อให้บริการคนพิการแบบ ครบวงจร ของ พม.  นอกเหนือจากการดำเนินงานในภารกิจหลักของ อพมก. การดำเนินการในกิจกรรมปีที่ 2  เน้นการจัดทำแผนชุมชนเพื่อพัฒนาคนพิการ  โดยการส่งเสริมให้ประชาคมร่วมกันในการจัดทำแผนชุมชน ด้านคนพิการ และผลักดันเพื่อให้มีการนำแผนชุมชนสู่แผนการดำเนินงานขององค์กรปกครองท้องถิ่น
กิจกรรมปีที่ 3 การส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตคนพิการ  ครอบครัว และชุมชน  เพื่อให้เกิดมาตรฐานการดำเนินงาน  โดยมีเกณฑ์มาตรฐานการดำเนินงานการพัฒนาศักยภาพคนพิการโดยชุมชน ที่จะเป็นแนวทางให้การดำเนินงานมีความยั่งยืน

ขอบคุณความบทความดี ๆ จาก สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)  http://www.nep.go.th/index.php?mod=cbr_process

การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living)

          แนวความคิด “การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ” : เกิดขึ้นจากความคับข้องใจของคนพิการ และแปรเปลี่ยนมาเป็นความคิดและการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว (ประมาณ ค.ศ.1970) และก็ได้ขยายวงไปทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาเองและประเทศในแถบยุโรป ในราว ค.ศ.1980 คนพิการในญี่ปุ่นได้เริ่มรู้จักแนวความคิดนี้ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่นำเอาแนวคิดนี้มาทำให้เป็นจริงเป็นจัง จนคนพิการญี่ปุ่นมีสภาพความเป็นอยู่และสภาพทางสังคมที่ดีขึ้น คนพิการไม่มีความรู้สึกเป็นคนด้อยค่าในสังคม ญี่ปุ่นพยายามเผยแพร่แนวความคิดนี้ไปให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วยกัน สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีผู้นำคนพิการไทยหลายท่านไปศึกษา ดูงานในหลายประเทศและเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งดีเกิดประโยชน์กับคนพิการและสังคมได้จริง จึงพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในบ้านเรา แล้วในที่สุดต้นปี พ.ศ.2545 ก็ได้มีการจัดการอบรมเรื่อง “การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ”ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

          แนวคิดดังกล่าวโดยหลักคือ คนพิการไม่ว่าจะพิการมากขนาดไหน มากจนแม้ขยับร่างกายไม่ได้ทุกส่วน เขาก็ยังเป็นคนมีความรู้สึกนึกคิด มีความต้องการ มีทุกข์ มีสุข เหมือนกับมนุษย์ทั่วไป คนพิการที่มีความพิการมากๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้ในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ต้องพึ่งญาติพี่น้องหรือคนดูแล ความทุกข์ ความสุขของคนที่อยู่ในสภาพต้องพึ่งคนอื่น คือคนช่วยมักจะคิดและกำหนดเอาเองว่าคนพิการ ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ความต้องการของคนพิการที่ไม่ตรงกับความคิดของคนดูแลช่วยเหลือก็ไม่ได้รับการตอบสนอง “นี่คือทุกข์อันสาหัสของคนพิการที่ช่วยตัวเองไม่ได้”

          การดำรงชีวิตอิสระเข้ามาแก้ไขปัญหานี้คือ ให้คนพิการลดการพึ่งพาคนอื่นให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในการช่วยเหลือตนเอง สร้างเครื่องมือทั้ง ไฮเทคฯ โลเทคฯ และแม้กระทั่งเมื่อจำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือ ก็จะต้องช่วยเหลืออยู่บนพื้นฐานความต้องการของคนพิการ ไม่ใช่ผู้ช่วยเหลือคิดเอาเอง อันจะทำให้คนพิการสามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ “นั่นคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์”

          “การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ” คืออะไร : ก็คือการมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกับคนทั่วไป มีโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องที่กระทบต่อชีวิตตน สามารถเลือกดำเนินกิจกรรมตามที่ต้องการ หากจะมีข้อจำกัดก็เป็นข้อจำกัดเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป เช่น กฏเกณฑ์ทางสังคม ดินฟ้าอากาศ เป็นต้น IL ไม่ควรถูกแปลความตรงๆ ว่าการมีชีวิตด้วยตัวของตัวเอง มีงานทำ มีรายได้เป็นของตัวเองเท่านั้น แต่หัวใจของ IL อยู่ที่การสามารถตัดสินใจชีวิตด้วยตัวเอง (Self-determination) มีสิทธิและโอกาสเลือกหนทางปฏิบัติเอง และมีอิสระเสรีที่จะประสบความล้มเหลวหรือเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น เช่นเดียวกับคนทั่วไป (คนทั่วไปมักมองความผิดพลาดล้มเหลวของคนพิการเป็นเรื่องแปลก และพยายามป้องกันให้ จึงกลายเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติในที่สุด ทั้งที่คนทั่วไปก็ทำผิดพลาดกันอยู่เสมอ)

หมายเหตุ : บทความนี้มีบางส่วนอ้างอิงมาจากหนังสือคู่มือ IL

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก http://www.oknation.net/blog/silc/2008/03/20/entry-2

 

ผู้ดูแลศูนย์

1. ชื่อ ดร.เยาวลักษณ์  มีบุญมาก ตำแหน่ง  พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการพิเศษ
E-mail:  yaowaluck_m@hotmail.com เบอร์โทร 085-1930076

    ประวัติการศึกษา

  • ปริญญาตรี  ประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์  พยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
  • ปริญญาโท  พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ปริญญาเอก PhD (Nursing) Murdcch University,Australia

    ความเชี่ยวชาญ

  • การพยาบาลด้านสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช
  • การให้คำปรึกษาทางสุขภาพ

2. ชื่อ นางสาวจิริยา  อินทนา ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการพิเศษ
E-mail: jiriya@yahoo.com  เบอร์โทร 084-0333316

    ประวัติการศึกษา

  • ประกาศนียบัตร การพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้นสูง(2530)
  • ปริญญาโท พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต  (การพยาบาลผู้ใหญ่) (2538)

    ความเชี่ยวชาญ

  • การรักษาโรคเบื้องต้น   การประเมินภาวะสุขภาพ
  • การพยาบาลโรคเบาหวาน

3. ชื่อ นาง กาญจนา  เลิศถาวรธรรม ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการพิเศษ
E-mail: lkarnchana@yahoo.com เบอร์โทร 081-6494802

    ประวัติการศึกษา

  • ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิตพยาบาลและผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล ( พ.ศ 2530)
  • ปริญญาโท ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการส่งเสริมสุขภาพ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ( พ.ศ 2542)

ความเชี่ยวชาญ

  • สุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช
  • การให้การปรึกษา

ความรู้เกี่ยวกับคนพิการ

“คนพิการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด 

ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ

ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๗๗ ง กำหนดประเภทความพิการไว้ ๖ ประเภท ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

๑. ความพิการทางการเห็น ได้แก่
๑) ตาบอด หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็น เมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับแย่กว่า ๓ ส่วน ๖๐ เมตร(๓/๖๐) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต (๒๐/๔๐๐) ลงมาจนกระทั่งมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๑๐ องศา
๒) ตาเห็นเลือนราง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็นเมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่า เมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับตั้งแต่ ๓ ส่วน ๖๐ เมตร (๓/๖๐) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต (๒๐/๔๐๐) ไปจนถึงแย่กว่า ๖ ส่วน ๑๘ เมตร (๖/๑๘)หรือ ๒๐ ส่วน ๗๐ ฟุต (๒๐/๗๐) หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๓๐ องศา

๒. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ได้แก่
๑) หูหนวก หมายถึง การที่บุคคล การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยิน โดยใช้คลื่น ความถี่ที่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ และ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียง ๙๐ เดซิเบลขึ้นไป
๒) หูตึง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยิน เมื่อตรวจวัดการได้ยิน โดยใช้คลื่นความถี่ที่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ และ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียงน้อยกว่า ๙๐ เดซิเบลลงมาจนถึง ๔๐ เดซิเบล
๓) ความพิการทางการสื่อความหมาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องทางการสื่อความหมาย เช่น พูดไม่ได้ พูดหรือฟังแล้วผู้อื่นไม่เข้าใจ เป็นต้น

๓. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ได้แก่
๑) ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือการสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา อาจมาจากสาเหตุอัมพาต แขน ขา อ่อนแรง แขน ขาขาด หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังจนมีผลกระทบต่อการทำงานมือ เท้า แขน ขา
๒) ความพิการทางร่างกาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ลำตัว และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน

๔. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือออทิสติก ได้แก่
๑) ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ หรือความคิด
๒) ความพิการทางออทิสติก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษาและการสื่อความหมาย พฤติกรรมและอารมณ์ โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง และความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๒ ปีครึ่ง ทั้งนี้ ให้รวมถึงการวินิจฉัยกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมอื่น ๆ

๕. ความพิการทางสติปัญญา ได้แก่ การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ หรือมีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าบุคคลทั่วไป โดยความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๑๘ ปี

๖. ความพิการทางการเรียนรู้ ได้แก่ การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องในด้านการอ่านการเขียน การคิดคำนวณ หรือกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นในระดับความสามารถที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามช่วงอายุและระดับสติปัญญา

ขอบคุณความบทความดี ๆ จาก สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.)  http://www.nep.go.th/index.php?mod=knowledge_disabilities

ยินดีต้อนรับ


           วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดราชบุรี ที่ผลิตบุคลากรด้านการพยาบาลตอบสนองความต้องการของชุมชน มีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพของบุคคลทุกกลุ่มทุกวัย และการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ที่เป็นที่ยอมรับจากภายนอก ได้รับเชิญบรรยายและมีผลงานการเขียนบทความวิชาการและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง งานศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการของวิทยาลัยฯเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในฐานะที่เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชน จึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องการดูแลคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสร้างองค์ความรู้เรื่องการดูแลคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว โดยใช้แนวคิดการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้โครงการนี้มีกิจกรรมหลายกิจกรรม อาทิ การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว การสร้างความร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อประชุมหาแนวทางการพัฒนาการดูแลคนพิการในชุมชนที่เกิดโดยความร่วมมือระหว่างอาจารย์ของวิทยาลัยและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลคนพิการในชุมชน

ผลงานที่เกี่ยวข้อง ปี พ.ศ. 2553-2554 วิทยาลัย มีงานวิจัย คนพิการ 7 เรื่อง ประชุมให้บริการวิชาการ 1 ครั้ง ประชุมคืนข้อมูลวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดในพื้นที่ 6 ครั้ง และหนังสือความรู้ที่เกิดจากการการวิจัย 2 เล่ม โดยได้รับงบประมาณจากจังหวัดราชบุรี จากการศึกษาวิจัยดังกล่าววิทยาลัยมีองค์ความรู้ที่เฉพาะเจาะจงว่าปัจจัยความสำเร็จในการดูแลคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวในจังหวัดราชบุรี ประกอบด้วย ลักษณะของบุคคล การดูแลโดยครอบครัว การมีส่วนร่วมของชุมชน และ สังคมไทย (ความเชื่อ วัฒนธรรม)

ปี พ.ศ. 2555 – 2556 วิทยาลัยพัฒนาความเชี่ยวชาญทางวิชาการของอาจารย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการศึกษาวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคนพิการ ต่อยอดความรู้ที่เกิดจากการวิจัยในช่วงแรกคือ ประเด็นด้านบุคคล การดูแลโดยครอบครัว การมีส่วนร่วมของชุมชน และ สังคมไทย (ความเชื่อ วัฒนธรรม) อย่างน้อย 17 เรื่อง (กำลังศึกษา) เมื่อทำวิจัยเสร็จจะมีการถอดบทเรียนต่อไป นอกขากนี้วิทยาลัยได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานด้านการดูแลคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหวโดยใช้แนวคิดการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์และแนวคิดการใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากชุมชนตำบลพิกุลทอง อ. เมือง จ.ราชบุรี งานที่

งานที่คาดว่าวิทยาลัยกับชุมชนพิกุลทองจะร่วมกันพัฒนาอย่างบูรณาการต่อไป ได้แก่ การสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยผู้เกี่ยวข้องในชุมชนเห็นความสำคัญของการดูแลคนพิการในชุมชน ฝ่ายบริหารคือ อบต.ก็มีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการอยู่แล้ว ภาคเอกชนคือบริษัทผลิตผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด ก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาครั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายอื่นๆ ได้แก่ ปลัด อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. และผู้ทรงคุณวุฒิของท้องถิ่นก็มีความสนใจที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาครั้งนี้เช่นกัน กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการที่ชุมชนที่อยากให้วิทยาลัยมีส่วนร่วม ได้แก่

  • การจัดทำคู่มือคนพิการ
  • การตั้งชมรมหรือกลุ่มคนพิการขึ้นเพื่อจะได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
  • การปรับภูมิทัศน์ของชุมชนที่จะเอื้อให้คนพิการดำเนินชีวิตได้โดยมีความสะดวกมากขึ้น
  • การจัดอบรมแก่ผู้ดูแลคนพิการในชุมชนและแสวงหานวตกรรมที่เหมาะสมนำมาใช้
  • การส่งเสริมอาชีพแก่คนพิการ
  • การฟื้นฟูสภาพโดยสหวิชาชีพ
  • การปรับสิ่งแวดล้อม/ที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ
  • การศึกษาปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของคนพิการ

นอกจากนี้วิทยาลัยสามารถจัดกิจกรรมอื่นๆเพิ่มเติม ดังนี้

  • ตอบปัญหาและให้คำปรึกษาแก่คนพิการและผู้ดูแล
  • เขียนจดหมายข่าวแจ้งข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้องและทันสมัย
  • จัดคณะจิตอาสาไปช่วยร่วมเหลือคนพิการติดเตียงในชุมชน

วิทยาลัยขอขอบคุณชาวพิกุลทองและทุกท่านที่เกี่ยวข้องที่เปิดโอกาสให้วิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่สำคัญครั้งนี้ วิทยาลัยจะพัฒนาและสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อไป